ประวัติเมืองขอนแก่น
พ.ศ.​๒๓๒๑ พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้มอบหมายให้ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกกองทัพไปตีเมืองลาว ลุถึง พ.ศ ๒๓๒๒ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ได้ตีหัวเมืองลาว ทั้งหมด คือ ลาวใต้ นครจำปาศักดิ์ ลาวกลาง เวียงจันทน์ และลาวเหนือ หลวงพระบาง จากนั้นได้กวาดต้อนเอาชาวลาว ลงมาอยู่กรุงธนบุรีด้วย โดยเฉพาะเชื้อ พระวงศ์ ในจำนวนชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาน้ัน มีนางคำแว่น ธิดาของเพียเมืองแพนแห่งเมืองทุรคม ซึ่งอยู่ห่างไปทางเงื่อนน้ำงึม ๗๐ กิโลเมตร รับราชการอยู่กับ นางเขียวค่อม ธิดาพระเจ้าสิริบุญสาร พระเจ้าแผ่นดินลาวได้ถูกกวาดต้อนลงมาด้วย

พ.ศ. ๒๓๒๕ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาล ที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินธุ์ นางคำแว่น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าจอม ขณะเดียวกันเพียงเมืองแพนได้อพยพไพร่พลจากเมืองทุรคม แขวงเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขงมาอาศัยอยู่ที่ ชีโล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดร้อยเอ็ดพ.ศ. ๒๓๓๒ เจ้าจอมคำแว่น ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้เพียเมืองแพนแยกตัวออกจากเมืองสุวรรณภูมิ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านบึงบอน (โนนทอง) ขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ให้เพียเมืองแพนเป็นเจ้าเมืองขอนแก่น ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา

พ.ศ. ๒๓๓๙ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คงจะเหน็ดเหนื่อยพระวรกายจากการว่าราชการงานเมือ ขณะบรรทมหลับก็เกิดละเมอขึ้น ทำให้ข้าราชบริพาร ตระหนกตกใจจนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ขณะนั้น เจ้าจอมคำแว่น* ใช้ความกล้าหาญตัดสินใจกัดนิ้วพระบาท จนกระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกทรงรู้สึกพระองค์และตื่นบรรทม เจ้าจอมคำแว่นจึงได้รับความดีความชอบโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ "ท้าวเสือ" เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในราชสำนัก นอกจากนั้นก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพียเมืองแพนเจ้าเมืองขอนแก่นเป็นที่ พระนครศรีบริรักษ์ ยกเมืองขอนแก่นขึ้นเป็นเมืองสำคัญปลายราชอาณาเขต ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๐ โดยมีใบตราตั้งเป็นเมืองอย่างเป็นทางการ
เมื่อพระนครศรีบริรักษ์(เพียงเมืองแพน) ถึงแก่อนิจกรรม ท้าวคำบ้ง บุตรเขยของเพียเมืองแพนได้เป็นเจ้าเมืองแทนในราชทินนามเดิม**

พ.ศ. ๒๓๕๒ พระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง) ถึงแก่อนิจกรรม ท้าวคำยวง น้องชาวท้าวคำบ้งได้เป็นเจ้าเมืองแทนในราชทินนามเดิม แล้วย้ายเมืองขอนแก่น ไปอยู่ที่ บ้านดอนพันซาด (ปัจจุบันคือบ้านโนนเมือง ตำบลบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) สาเหตุที่ย้ายคือ เมืองขอนแก่นอยู่ใกล้กับเขตแดนเมือง ชลบถ (ปัจจุบันเป็นอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น) เกินไป เมืองชลบถเป็นเมืองใหญ่ตั้งมาก่อนมีอาณาเขตกว้างมาก มีเมืองขึ้นหลายเมือง เช่น เมืองชัยภูมิ เมืองเกษตรสมบูรณ์ เมืองจตุรัส และเมืองโนนลาว (ปัจจุบันเป็นอำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา) เขตแดนเมืองชลบถด้านเมืองขอนแก่นอยู่ที่ห้วยผึ้ง ซึ่งอยู่ติดกับบ้านเหล่านาดีด้านทิศใต้ไหลลงสู่แก่งน้ำต้อนและเลยมาถึงบ้านกุดกว้าง ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นด้านตะวันตก ๓ กิโลเมตร

พ.ศ. ๒๓๗๕ พระนครศรีบริรักษ์ (คำยวง) ถึงแก่อนิจกรรม ต่อมาท้าวหนูได้เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นในราชทินนามเดิม

พ.ศ. ๒๓๘๑ พระนครศรีบริณักษ์ (ท้าวหนู) ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองมุกดาหาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอินผู้เป็น อุปฮาต บุตรท้าวคำยวงเป็นพระนครศรีบริรักษ์ สืบต่อมา ได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านดอนพันซาด มาตั้งที่บ้านโนนทัน ฝั่งตะวันออกของบึงแก่นนคร สาเหตุเนื่องมาจากมีการแบ่งเขตแดนกันใหม่ระหว่างเมืองขอนแก่นกับเมืองกาฬสินธุ์ ก่อนที่จะแยกออกเป็นเมืองมหาสารคามในปัจจุบันพ.ศ. ๒๔๐๗ พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวอิน) ถึงแก่อนิจกรรม ท้าวมุ่ง บุตรท้าวคำยวงซึ่งเป็นพี่ชายของท้าวอิน รักษาราชการแทนพ.ศ. ๒๔๑๑ ท้าวมุ่ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่พระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่น มีท้าวขติยะบุตรเขยท้าวคำยวงเป็นอุปฮาต ท้าวจันสีสุราช บุตรท้าวคำบ้งเป็นที่ ราชวงศ์ และท้าวอู๋บุตรท้าววรบุตรและนางน้อยเป็นที่ราชบุตร

พ.ศ. ๒๔๑๓ ท้าวอู๋ หลังจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็นราชบุตรแล้วได้ แยกกองราชบุตรไปอยู่บ้านดอนบม (ใบตราตั้งราชบุตรอยู่กับนายทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์ หลานพระยานครศรีบริรักษ์ (ท้าวอู๋) บ้านเลขที่ ๗๘-๘๐ ถนนเหล่านาดี อ.เมืองขอนแก่น)

พ.ศ. ๒๔๑๘ เกิดศึกฮ่อรุกรานเมืองลาว ราชบุตรอู๋ได้รับมอบหมายจากพระยานครศรีบริรักษ์ ให้เป็นตัวแทนเมืองขอนแก่นไปปราบฮ่อ ปรากฎว่าตีค่ายฮ่อแตกทางทิศเหนือของเวียงจันทน์ ทำให้กองทัพไทยรบชนะฮ่อผู้รุกราน ราชบุตรอู๋ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า เป็นพระนครศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น ใบตราตั้งลงวันอาทิตย์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๒๐ ตรงกับวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๙ เมืองขอนแก่น จึงแบ่งออกเป็นสองฝ่าย มีเจ้าเมือง ๒ คน ฝ่ายหนึ่งอยู่บ้านโนนทัน อีกฝ่ายอยู่บ้านดอนบม ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง ๘ กิโลเมตร

เมื่อมีเจ้าเมือง ๒ คน จึงเกิดความวุ่นวายในการบริหารงาน พระนครศรีบรรักษ์คนเดิมเสียใจมากเพราะท่านเป็นคนเลือกหลวงศรีวรวงศ์(อู๋) ขึ้นมาเป็นราชบุตรเพียง ๗ ปี ราชบุตรก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็น พระนครศรีบริรักษ์ มาแบ่งเมืองกันท่านไปครึ่งหนึ่ง อุปฮาตซึ่งเป็นน้องเขยท่านและราชวงศ์ซึ่งบุตรชายของท่าน ต่างก็มีอายุมากกว่าและมีตำแหน่งสูงกว่ากลับหมดโอกาส อาจจะเป็นเพราะ อุปฮาตอายุมากถึง ๖๒ ปี และราชวงศ์ก็เ)็นบุตรชายของท่าน ท่านจึงไม่ต้องการให้ไปเสี่ยงชีวิตในการปราบฮ่อ

พ.ศ. ๒๔๒๔ พระนครศรีบริรักษ์ คนเดิมถึงแก่อนิจกรรม ท้าวขติยะผู้น้องเขยซึ่งเป็นอุปฮาต ท้าวราชวงศ์บุตรชายพระนครศรีบริรักษ์ ได้ย้ายศาลาที่ทำการเมืองขอนแก่นไปจากโนนทันไปอยู่บ้านทุ่ม (ปัจจุบัน ตำบลบ้านทุ่ม อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น) การทะเลาะเบาะแว้งกัน มีอยู่เป็นประจำและหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ

พ.ศ. ๒๔๓๔ ทางราชการได้สอบสวนทางวินัยเพื่อเอาโทษทั้งสองฝ่าย ผลปรากฎว่า เป็นความผิดเล็กน้อยอันเนื่องมาจากการทำงานขัดแย้ง กันเอง กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงประจำพระองค์ประจำมณฑลอุดร จึงสั่งให้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านดอนบมไปรวมกันอยู่ที่ บ้านทุ่ม ให้ข้าราชการทั้งหมดฟังคำบังคับบัญชาของพระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดีศรีศุภสุนทร(อู๋) แต่เพียงผู้เดียว

พ.ศ.​๒๔๔๒ พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวอู๋) ได้ย้ายเมืองกลับมาบ้านเมืองเก่า โดยตั้งศาลากลางจังหวัดอยู่ทางทิศเหนือของบึงแก่นนคร (ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของสำนักงานประชาสัมพันธ์ เขต ๑ ขอนแก่น - ล่าสุดได้ย้ายไปอยู่ถนนมิตรภาพ หน้าประตูมอดินแดง มข.) และท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น พระยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓

๒๕-๒๖ ธันวาคม ๒๔๔๙ สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการเมืองขอนแก่น

เดือนมกราคม พ.ศ.​๒๔๔๗ พระยานครศรีบริรักษ์ ได้ลาออกจากราชการ เมืองขอนแก่นจึงว่างผู้ว่าราชการ คงมีแต่ขุนผดุงแคว้นประจันต์ (ร.อ.ช่วง วิโรจน์เพชร) ข้าหลวงกำกับราชการบริเวณภาชี และพระพิทักษ์สารนิคม ปลัดเมืองได้ช่วยกันดูแลรักษาราชการ

พ.ศ. ๒๔๕๑ ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านเมืองเก่าข้ามทุ่งนาน้อยมาทางทิศเหนือมาตั้งที่บ้านพระลับ ศาลากลางตั้งอยู่ที่บริเวณที่ราชพัสดุ อันเป็นที่ตั้งตลาดบางลำภู ตรงข้ามสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่น ในปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้วางศิลาฤกษ์อาคารศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ที่บริเวณสนามบินเก่า (ปัจจุบันคืออาคารที่รับความเสียหายจากไฟไหม้ ช่วงเหตุการณ์เผาสถานที่ราชการ ในจังหวัดต่างๆ )

พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้ย้ายที่ทำการจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปศาลากลางจังหวัดหลังใหม่จนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ สิ่งแวดล้อม ศิลปกรรม นำเที่ยว ขอนแก่น , รายงานการออกสำรวจแหล่งศิลปกรรมจังหวัดขอนแก่น หน่วยอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่น หัวหน้าโครงการ นายประมวล พิมพ์เสน


เผยแพร่โดย www.KhonKaenView.com
อำนวยการโดย ดร. ประชาสรรค์ แสนภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล ขอนแก่น
power by Glocalization Training Center (www.glocalization.org)